ในทุกขั้นตอนของการศัลยกรรมจมูกไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือหลังล้วนมีความสำคัญด้วยกันทั้งนั้น เพื่อให้คนไข้มั่นใจว่าจะได้รับการบริการที่ปลอดภัย รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย คนไข้จำเป็นต้องศึกษาแนวทางการปฏิบัติตัวทั้งก่อนและหลังการผ่าตัดเสริมจมูกที่ถูกต้องและครบถ้วนเสียก่อน
สารบัญ
ก่อนที่จะตัดสินใจทำจมูก
ก่อนที่คนไข้จะเดินเข้าคลินิกเสริมความงามไปปรึกษาแพทย์ ควรเริ่มจากสังเกตจมูกตัวเองเบื้องต้นก่อนว่า มีจุดไหนที่รู้สึกไม่พอใจและต้องการปรับแก้ เช่น จมูกไม่โด่ง จมูกโป่งเป็นลูกชมพู่ หรือจมูกงุ้มหงิก เป็นต้น เพื่อที่คนไข้จะสามารถสื่อสารกับคุณหมอได้อย่างตรงจุด ช่วยให้แพทย์ตอบโจทย์ความต้องการหรือช่วยแนะนำการแก้ไขปัญหาของคนไข้ได้ รวมไปถึงการประเมินข้อจำกัดของคนไข้และความเป็นไปได้ก่อนผ่าตัดเสริมจมูกค่ะ วันนี้หมอจะมาบอกแนวทางการหาข้อมูลเบื้องต้นก่อนที่คนไข้จะตัดสินใจเดินทางไปปรึกษากับศัลยแพทย์ มาดูกันเลยค่ะ
-ปรึกษาคนรู้จัก หรือหาข้อมูลในเว็บไซต์ต่างๆ ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการศัลยกรรมจมูก เพื่อให้คนไข้ทราบถึงทรงจมูกที่ตนเองต้องการรวมไปถึง การจัดเตรียมข้อมูล คำถามและข้อสงสัยไว้สอบถามกับหมอเจ้าของเคสได้ค่ะ
-ศึกษาข้อมูลของโรงพยาบาลหรือคลินิกเสริมความงามที่รับทำศัลยกรรมจมูก แล้วเลือกสถานพยาบาลที่น่าเชื่อถือมา 2-3 แห่ง ก่อนจะลองเข้าไปสอบถาม เพื่อพิจารณาเลือกที่ที่คิดว่าเหมาะสมที่สุด
-เมื่อเจอแพทย์แล้ว คนไข้ควรสอบถามข้อสงสัยและข้อมูลให้ละเอียดที่สุด รวมถึงขอคำแนะนำในการทำศัลยกรรมจมูก เช่น ตนเองควรแก้ไขปัญหาจมูกด้วยวิธีการใด หรือ จมูกทรงไหนที่เข้ากับรูปหน้าของตนเอง เป็นต้น เพื่อที่คนไข้จะได้รับคำแนะนำและได้ผลลัพธ์ที่ตรงใจมากที่สุดค่ะ
แนวทางการเตรียมตัวและการปฎิบัติตัวก่อนเข้ารับการเสริมจมูก
เมื่อตัดสินใจที่จะเข้าทำการผ่าตัดศัลยกรรมจมูกแล้ว ผู้เข้ารับการผ่าตัดและทีมศัลยแพทย์จำเป็นต้องหารือกันเรื่องแนวทางในการผ่าตัด โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและสภาพจิตใจของคนไข้ ในส่วนนี้ หมอจะพูดถึงปัจจัยที่ศัลยแพทย์จะนำมากำหนดแนวทางการผ่าตัด รวมไปถึง การเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับคนไข้ได้ค่ะ โดยปัจจัยต่างๆ มีดังต่อไปนี้
1. ความคาดหวังของผู้เข้ารับการผ่าตัด
แพทย์และผู้เข้ารับการผ่าตัดจำเป็นต้องพูดคุยกันถึงความคาดหวังที่จะได้รับจากการผ่าตัดศัลยกรรม โดยแพทย์จะแนะนำเทคนิคการเสริมจมูก และผลลัพธ์ที่คนไข้จะได้รับ ซึ่งคนไข้ต้องมีความมั่นใจที่จะพูดคุยเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของตนเอง รวมไปถึง การเปิดใจกับศัลยแพทย์ถึงความต้องการอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งบางครั้งแพทย์อาจแนะนำให้ทำศัลยกรรมส่วนอื่นบนใบหน้าเพิ่มเติมเพื่อให้ใบหน้าดูสมดุลมากขึ้น
2. การตรวจสุขภาพ และการปรึกษาแพทย์
นอกจากแพทย์ต้องสอบถามถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่คนไข้ตั้งไว้ในการผ่าตัดเสริมจมูกแล้ว แพทย์จำเป็นต้องทราบถึงประวัติการรักษาทางการแพทย์ของคนไข้ เช่น เคยมีประวัติภาวะจมูกอุดตันหรือไม่ ผู้เข้ารับการผ่าตัดเคยผ่านการผ่าตัด หรือมีการใช้ยาใดในการรักษาโรคประจำตัวบ้าง ทั้งนี้ หากผู้เข้ารับการผ่าตัดมีภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น ฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) แพทย์อาจไม่แนะนำให้ทำการผ่าตัดศัลยกรรมจมูก รวมไปถึง แพทย์จำเป็นต้องตรวจสุขภาพของคนไข้อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเลือด ตรวจดูลักษณะผิวหนังด้านในและด้านนอกของจมูก เพื่อดูความหนาของผิวหนังและความแข็งแรงของกระดูกอ่อนที่ปลายจมูก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนในการรักษา และทราบถึงผลกระทบในด้านการหายใจหลังจากการทำศัลยกรรมได้ดียิ่งขึ้นค่ะ
3. การถ่ายภาพก่อนทำจมูก
ในการวางแผนการผ่าตัด จะต้องมีการถ่ายภาพจมูกของผู้เข้ารับการผ่าตัดจากมุมต่าง ๆ จากนั้นศัลยแพทย์จะนำภาพเข้าคอมพิวเตอร์เพื่อจำลองผลจากการศัลยกรรมให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดได้ทราบว่า หากทำการผ่าตัดแล้วจะได้ผลลัพธ์อย่างไร โดยศัลยแพทย์จะใช้ภาพถ่ายเพื่อเปรียบเทียบทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด รวมทั้งใช้อ้างอิงในขณะการผ่าตัดและการรักษาในระยะยาวด้วย
4. สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงก่อนเข้ารับการเสริมจมูก
ก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัด คนไข้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยหลีกเลี่ยงการบริโภคหรือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมดังต่อไปนี้ เพื่อช่วยให้การผ่าตัดผ่านไปอย่างราบรื่น และลดปัญหาภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นกับตัวคนไข้เองค่ะ
-ยาและอาหารเสริมต่าง ๆ
คนไข้ควรงดยาแก้ปวดหรือยาลดกล้ามเนื้ออักเสบก่อนผ่าตัด เช่น ยากลุ่มแอสไพริน (Aspirin) หรือ ไอบิวโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อลดอาการฟกช้ำจากเลือดคั่งหลังผ่าตัด แต่กรณีที่คนไข้จำเป็นต้องใช้ หมอแนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอลในการบรรเทาอาการปวดเท่านั้นค่ะ นอกจากนี้ควรงดอาหารเสริมทุกชนิด เช่น วิตามิน หรือน้ำมันตับปลา เนื่องจากอาหารเสริมเหล่านี้ก่อให้เกิดอาการเลือดหยุดไหลช้าค่ะ
-บุหรี่และแอลกอฮอล์
เนื่องจากการบริโภคแอลกอฮอล์หรือการสูบบุหรี่ อาจส่งผลให้แผลผ่าตัดหายช้า และเสี่ยงต่อการติดเชื้อ นอกจากนี้ในคนไข้บางรายอาจเกิดคีลอยด์หรือรอยแผลเป็นนูนได้ค่ะ ดังนั้น ก่อนการผ่าตัดเสริมจมูกคนไข้ควรงดสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์เป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์
-งดน้ำและอาหาร ก่อนการผ่าตัด
ในกรณีที่ต้องดมยาสลบ คนไข้ควรงดน้ำและอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักอาหารเข้าหลอดลมหรือปอดโดยที่คนไข้ไม่รู้ตัวระหว่างการผ่าตัดค่ะ ส่วนในกรณีที่เป็นการฉีดยาชา คนไข้สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติแต่ควรเป็นอาหารที่อ่อน ๆ และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดหรือของหมักดอง
-ของแสลง
งดอาหารแสลง เช่น ของหมักดอง หรืออาหารทะเล ตามระยะเวลาที่คุณหมอระบุไว้ เพราะสารเคมีบางอย่างในอาหารเหล่านี้อาจทำปฏิกิริยากับร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการอักเสบหรือแผลจากการผ่าตัดสมานตัวช้า
-เลี่ยงการตากแดดหนักๆ บริเวณหน้า
หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดโดยเฉพาะบริเวณหน้าเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เพราะแสงแดดแรงๆ เป็นเหตุให้ผิวอ่อนแอลงได้ หมอขอแนะนำให้คนไข้ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไปค่ะ
-งดแต่งหน้า
เนื่องจากฝุ่นผงจากเครื่องสำอางอาจตกลงไปในบาดแผลได้ ดังนั้นในวันผ่าตัดคนไข้ควรงดการแต่งหน้าค่ะ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อหลังจากการผ่าตัด นอกจากนี้ แพทย์จะสามารถสังเกตสีของริมฝีปากคนไข้ในระหว่างการผ่าตัดได้ง่ายกว่า เพราะเมื่อออกซิเจนในร่างกายต่ำลง ริมฝีปากจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ
5. ซื้อของจำเป็นตุนไว้
คนไข้ควรเตรียมของที่จำเป็นตุนไว้ในบ้าน เพื่อลดการเดินทางในระหว่างที่พักฟื้นจากการผ่าตัด นอกจากจะช่วยลดการกระทบกระเทือนที่อาจส่งผลเสียหรือทำให้แผลหายช้าได้แล้ว ยังช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อของบาดแผลอีกด้วย
6. หาคนช่วยดูแลในช่วงพักฟื้น
ในระหว่างที่พักฟื้นคนไข้จะทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันไม่สะดวกเท่าที่ควร ดังนั้น คนไข้ควรหาคนที่จะคอยดูแลตนเองในช่วงนี้ โดยอาจจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน หรือคุณแฟนก็ได้ค่ะ นอกจากนี้ พวกเขาเหล่านี้ยังสามารถช่วยพาคนไข้มาหาหมอได้ในกรณีฉุกเฉินอีกด้วย
แนวทางการดูแลตนเองและข้อปฏิบัติหลังทำจมูก
หลังจากที่คนไข้เข้ารับการผ่าตัดศัลยกรรมจมูกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อไปหมอจะขอแนะนำแนวทางการดูแลตนเอง รวมไปถึงข้อปฏิบัติหลังผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้ ยังช่วยให้คนไข้ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นค่ะ มาดูกันเลย
1. ประคบเย็น
คนไข้ควรประคบเย็นด้วยผ้าขนหนูเปียกที่แช่ช่องฟรีซหรือเจลแพ็กต่อเนื่องกันเป็นเวลาประมาณ 3-4 วันหลังผ่าตัด เพราะความเย็นจะทำให้แผลมีการหดตัวของหลอดเลือดและเพิ่มความหนืดของเลือด ช่วยให้เลือดหยุดไหลและลดอาการบวมได้ โดยคนไข้ควรประคบเย็นบริเวณโดยรอบของจมูก และหลีกเลี่ยงการประคบลงไปที่ซิลิโคนโดยตรง เพื่อป้องกันไม่ให้ซิลิโคนเคลื่อนที่ค่ะ หากไม่ประคบเย็นจะทำให้เกิดเลือดออกและมีพังผืดเกิดขึ้นภายหลัง ส่งผลให้จมูกของคนไข้เบี้ยวได้
2. วิธีนอน
คนไข้ควรนอนหมอนสูงเป็นเวลา 2 อาทิตย์ หรือนั่งหลับ โดยการใช้หมอนรองคอประคองไว้ หลีกเลี่ยงการนอนหมอนราบ นอนตะแคง หรือการนอนคว่ำหน้า เพราะถึงแม้แพทย์จะติดเทปเพื่อป้องกันการเคลื่อนที่ของซิลิโคนไว้แล้ว แต่ในช่วงแรกหลังการผ่าตัด แผลจะบวมและตัวซิลิโคนที่เสริมเข้าไปยังไม่รัดกับแกนจมูกเท่าที่ควร ทำให้สามารถขยับได้ง่าย เมื่อคนเราหลับ มักจะเผลอขยับหรือพลิกตัว ซึ่งมันจะส่งผลกระทบกับจมูกใหม่ได้ค่ะ
3. การดูแลแผลในโพรงจมูก
ควรดูแลแผลในโพรงจมูกด้วยไม้พันสำลีเช็ดน้ำเกลือและหลีกเลี่ยงการใช้นิ้ว แอลกอฮอล์ เบตาดีน หรือยาฆ่าเชื้อโรคที่แสบรุนแรง เพื่อป้องกันการระคายเคืองค่ะ
4. การดูแลอวัยวะบนใบหน้าระหว่างพักฟื้น
ในช่วงการพักฟื้น หมอจะขอแนะนำวิธีการดูแลอวัยวะบนใบหน้าของคนไข้ค่ะ เพื่อป้องกันการอักเสบหรือการติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด
-ห้ามให้แผลผ่าตัดโดนน้ำโดยเด็ดขาด จนกว่าจะถึงวันตัดไหม โดยเฉพาะแผลบริเวณหลังหู ดังนั้น คนไข้ต้องคอยระมัดระวังตนเองอย่างมากเวลาอาบน้ำ ล้างหน้า หรือแปรงฟันค่ะ นอกจากนี้ คนไข้ควรหลีกเลี่ยงการออกไปข้างนอกเวลาที่มีฝนตกด้วยค่ะ
-เวลาล้างหน้า หมอแนะนำให้คนไข้ใช้สำลีชุบคลีนซิ่งแล้วเช็ดที่บริเวณใบหน้าอย่างเบามือค่ะ หลีกเลี่ยงการสัมผัสแรง ๆ บริเวณใบหน้า
-หากต้องการทำความสะอาดบริเวณหนังศีรษะ หมอแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ Dry Shampoo แทนการสระผม
5. สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงหลังทำจมูก
หลังการเข้ารับการผ่าตัด คนไข้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการบริโภคหรือพฤติกรรมดังต่อไปนี้ เพื่อช่วยในการพักฟื้นและลดปัญหาภาวะแทรกซ้อนค่ะ
-หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีฝุ่นมาก
คนไข้ควรหลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่เต็มไปด้วยฝุ่นละอองประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการไอหรือจามค่ะ และในกรณีที่ต้องการจาม คนไข้ควรจามโดยการเปิดปาก เพื่อเป็นการลดแรงดันที่จะเกิดขึ้นบริเวณจมูกค่ะ
-งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
คนไข้ควรงดการสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์หลังการผ่าตัด เพราะการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ประสิทธิภาพในการซ่อมแซมร่างกายลดต่ำลง กล่าวคือ สารพิษในบุหรี่ทำให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณบาดแผลน้อยลง ส่งผลให้ผิวหนังขาดเลือดและเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อหลังการผ่าตัด
-อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
นอกจาก การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์แล้ว คนไข้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ตนเองแพ้ และอาหารที่ทำให้ใบหน้าบวมแดง เช่น อาหารที่ร้อนจัด อาหารที่มีรสเผ็ด อาหารรสเค็ม เป็นต้น
6. อาหารที่ควรรับประทาน
ในส่วนนี้หมอจะขอแนะนำอาหารที่คนไข้ควรรับประทานหลังการผ่าตัดค่ะ เพื่อช่วยลดอาการบวมหรือช้ำ รวมไปถึง ช่วยในการฟื้นตัวของคนไข้ให้ดียิ่งขึ้นค่ะ
-โปรตีน
เนื่องจากสารอาหารประเภทโปรตีนมีส่วนช่วยในการสร้างเนื้อเยื่อและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย รวมไปถึง ช่วยทำให้ผิวหนังแข็งแรงและลดอาการติดเชื้อ ดังนั้นคนไข้จึงควรรับประทานอาหารที่ให้โปรตีน เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ นม โยเกิร์ต ธัญพืช หรือถั่วประเภทต่างๆ เพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นค่ะ
-น้ำ
ในร่างกายของมนุษย์มีน้ำเป็นองค์ประกอบที่สำคัญถึง 70% นอกจากน้ำจะช่วยในการลำเลียงสารต่าง ๆ ภายในร่างกายแล้ว ยังช่วยให้ระบบอวัยวะทำงานเป็นปกติอีกด้วย ดังนั้น หลังการผ่าตัดจึงควรบริโภคน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เพื่อทำให้แผลสมานตัวและร่างกายฟื้นตัวเร็วขึ้น
-ไขมันดี
ไขมันมีส่วนช่วยในการสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาใช้เป็นพลังงานในการสร้างและซ่อมแซมเยื่อหุ้มเซลล์ได้ นอกจากนี้ ไขมันยังให้พลังงานสูงและมีส่วนช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันงา น้ำมันถั่วเหลือง หรืออาหารจำพวกถั่วเปลือกแข็ง เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วลิสง หรืออัลมอนด์ จะมีส่วนช่วยให้แผลสมานตัวได้เร็วขึ้นด้วย
-ธาตุเหล็กและสังกะสี
เพราะธาตุเหล็กและสังกะสีช่วยกระตุ้นการสมานแผลและการผลิตเซลล์ผิวใหม่ ช่วยสังเคราะห์โปรตีนและคอลลาเจน ดังนั้น หากคนไข้อยากฟื้นตัวได้เร็วขึ้นควรกินธาตุเหล่านี้อย่างน้อยวันละ 15 มิลลิกรัม ซึ่งพบได้ในอาหารจำพวก ปลา ไข่ อาหารทะเล ผักใบเขียว และถั่วเหลือง เป็นต้น
-วิตามินซี
ในช่วงการพักฟื้นร่างกาย คนไข้ควรได้รับวิตามินซีไม่น้อยกว่าวันละ 100-200 มิลลิกรัม เพราะวิตามินซีช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยให้ผนังหลอดเลือดมีความแข็งแรง ทำให้บาดแผลสมานตัวได้เร็วขึ้น ลดอาการบวมช้ำ และการอักเสบ โดยคนไข้ควรรับประทานผักหรือผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินซีหรือมีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม ฝรั่ง มะละกอ กีวี บร็อกโคลี
7. พบแพทย์ตามนัด
หลังจากที่คนไข้กลับไปพักฟื้นที่บ้านและปฏิบัติตามคำแนะนำของหมอหลังการผ่าตัดแล้วนั้น ขั้นตอนสุดท้าย คือ คนไข้ควรไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อให้แพทย์ตรวจสอบจมูก รวมไปถึงการตัดไหมค่ะ
อาการที่พบได้บ่อยหลังเสริมจมูกและวิธีรับมือ
ในส่วนนี้ หมอจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการที่อาจเกิดขึ้นกับคนไข้หลังจากการผ่าตัดเสริมจมูก และแนวทางการปฐมพยาบาลตนเองเบื้องต้น ตามมาดูกันเลยค่ะ
มีเลือดออกเยอะบริเวณแผลผ่าตัด
ในช่วงระยะเวลา 1-2 วันแรก จะมีเลือดไหลซึมอยู่บ้างบริเวณแผลผ่าตัด เป็นอาการปกติที่พบได้ค่ะ คนไข้ควรหมั่นประคบเย็นเพื่อช่วยให้เลือดหยุดไหลได้เร็วขึ้น โดยเริ่มประคบเย็นทันทีหลังการผ่าตัดจนถึงช่วงวันที่ 3 และเริ่มประคบอุ่นก่อนการตัดไหมในช่วงวันที่ 4 เป็นต้นไป โดยจุดสำคัญในการประคบทั้งเย็นและอุ่นคือ คนไข้ควรหลีกเลี่ยงการประคบโดยตรงบริเวณซิลิโคนค่ะ
อาการบวม
ในระยะเวลา 1 เดือนแรกหลังการเสริมจมูก คนไข้อาจมีอาการบวมช้ำหรือมีการยุบบวมสองข้างไม่เท่ากัน ซึ่งทำให้จมูกของคนไข้ดูเบี้ยวเอียงได้ ในจุดนี้คนไข้ไม่ต้องกังวลค่ะ หมอแนะนำให้ประคบอุ่นไปเรื่อย ๆ หากยังรู้สึกว่ามีอาการบวมอยู่
หายใจไม่ออก
ในช่วงแรกๆหลังการผ่าตัด คนไข้อาจจะรู้สึกหายใจไม่สะดวก เนื่องจากเยื่อบุภายในจมูกมีอาการบวม ซึ่งเป็นอาการปกติค่ะ คนไข้ไม่ต้องกังวลนะคะ หากรู้สึกมีน้ำมูก คนไข้สามารถรับประทานยาลดน้ำมูกควบคู่ด้วยได้
รู้สึกคันที่เฝือก
อาการคันบริเวณเฝือกและผ้าก๊อซเป็นเรื่องปกติค่ะ คนไข้ควรดามเฝือกและผ้าก๊อซไว้อย่างน้อย 7 วัน ซึ่งในช่วงระยะเวลานี้ ห้ามให้ผ้าก๊อซและแผลโดนน้ำโดยเด็ดขาดจนกว่าจะถึงวันตัดไหม โดยในวันที่ 7 ช่วงเย็น คนไข้สามารถแกะเฝือก และผ้าก๊อซออกเองได้เลย แล้วจึงเริ่มทำความสะอาดแผลบริเวณแผลหลังใบหู
สรุป
ก่อนการศัลยกรรมจมูก คนไข้ควรศึกษาข้อมูลและเข้ารับบริการกับคลินิกที่เชื่อถือได้ รวมไปถึงการดูแลตัวเองและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งก่อนและหลังการผ่าตัดเสริมจมูก เพื่อให้ได้รับผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ และการบริการที่ปลอดภัย ลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากผลข้างเคียงที่น่ากลัวและเป็นอันตราย